SDG ผลงานชิ้นที่ 1

การจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ เพื่อการผลิตบัณฑิตพยาบาลให้มีสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

1. โครงการ/กิจกรรมสอดคล้องกับ SDGs

SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being)

2. สรุปผลการดำเนินงาน

ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พยาบาลวิชาชีพต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่และทันต่อแนวทางการดูแลรักษา การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นสมรรถนะที่พึงประสงค์ของนักศึกษาพยาบาล การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้บูรณาการอยู่ในทุกกิจกรรมการเรียนการสอนของหลักสูตรพยาบาล  ศาสตรบัณฑิต มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ 1) เจตคติต่อการเรียนรู้ 2) ทักษะในการสื่อสาร และ 3) การนำพาตนเองเข้าไปในสถานการณ์ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ แนวทางการปลูกฝังให้นักศึกษามีลักษณะการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเริ่มตั้งแต่ในระดับอุดมศึกษาโดยให้นักศึกษามีส่วนในการกำหนดการเรียนรู้ สอนให้นักศึกษาแสวงหาความรู้ สามารถคัดสรรองค์ความรู้ด้วยตนเอง ประเมินคุณค่าองค์ความรู้ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ สิ่งเหล่านี้คือรากฐานของการผลิตบัณฑิตพยาบาลให้มีสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นสมรรถนะตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 สอดคล้องกับสมรรถนะมาตรฐานพยาบาลวิชาชีพของสภาการพยาบาล ซึ่งสมรรถนะทั้ง 4 ด้าน จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นฐาน ตลอดจนเรียนรู้จากการทำงานและตามความสนใจของตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จึงต้องกำหนดรูปแบบการเรียนรู้และวิธีการสอนเพื่อบ่มเพาะหรือพัฒนาให้นักศึกษามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ขั้นตอนการดำเนินงาน (PDCA)

            การวางแผน (PLAN)

  1. วางแผนและเตรียมการในการพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะ 4 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ทักษะ คุณธรรมจริยธรรม และลักษณะส่วนบุคคล โดยกำหนดคุณลักษณะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีสอดคล้องกับสมรรถนะด้านคุณลักษณะเชิงวิชาชีพ
  2. วิเคราะห์และกลั่นกรองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย แล้วนำมาสร้างเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program Learning Outcome: PLOs)
  3. กำหนดวิธีการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิตไว้ในเล่มหลักสูตร (มคอ 2) และสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร
  4. วางแผนการประเมินสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแต่ละรายวิชา โดยกำหนดให้ทุกรายวิชาใช้แบบประเมินที่เป็นมาตรฐานหรือ Rubic scale

ลงมือปฏิบัติ (DO)

  1. นำวิธี/รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิตในเล่มหลักสูตร (มคอ 2) ถ่ายทอดลงสู่รายวิชาในขั้นตอนกระบวนการวิพากษ์รายละเอียดของเนื้อหารายวิชา (มคอ) ให้สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละรายวิชา เช่น รายวิชาปฏิบัติทางการพยาบาลเป็นการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง นักศึกษาต้องคิดวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยแบบเฉพาะราย เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการพยาบาลและให้การพยาบาลหรือดูแล (Caring) แบบองค์รวม รูปแบบการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สำคัญรูปแบบหนึ่ง การแก้ปัญหา (Problem solving) แสดงออกถึงความสามารถในการคิดและตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติโดยใช้เหตุผลและสติในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม การเชื่อมโยงและการสรุปรวบยอดเนื้อหาโดยการเขียนแผนที่มโนทัศน์ (concept mapping) การเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (Project based) ในรายวิชานวัตกรรมทางการพยาบาล การทำวิจัยในรายวิชาวิจัยทางการพยาบาล และวิธีการสอนแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น นอกจากนี้ทุกรายวิชาปฏิบัติการพยาบาล กำหนดให้มีการสะท้อนคิดเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณขณะฝึกปฏิบัติการพยาบาลในสถานการณ์จริง
  2. กำหนดกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ทักษะการสื่อสารโดยมอบหมายให้ทุกรายวิชามีผู้ประสานงานรายวิชา เพื่อประสานงานกับอาจารย์ นักศึกษา และพยาบาลวิชาชีพบนหอผู้ป่วย ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นความรู้เพื่อนำมาใช้อ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ในกิจกรรมการพยาบาลอย่างเป็นเหตุเป็นผล และทักษะการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือคิดรวบยอดสรุปเนื้อหาโดยใช้ concept mapping เป็นต้น

ประเมินผล (Check)

ประเมินสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แบบประเมิน Rubic Scale

ปรับปรุง/พัฒนา (Action)

นำผลการประเมินมาพัฒนาในปีการศึกษาถัดไป

บทเรียนที่ได้รับ

  1. กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นักศึกษามีสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการสร้างบัณฑิตพยาบาลให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาชีพ ทำงานได้จริงหลังสำเร็จการศึกษาและเป็นไปตามความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย
  2. การสะท้อนลักษณะบัณฑิตพยาบาลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จากผู้มีส่วนได้เสีย พบว่าบัณฑิตมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างผลงานคุณภาพให้กับหน่วยงาน มีทักษะการทำวิจัยรูปแบบพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research, R2R) การพัฒนางานคุณภาพ (Continuous Quality Improvement: CQI) และบัณฑิตพยาบาลคิดเชื่อมโยงปัญหาผู้ป่วยสู่แนวทางปฏิบัติได้ชัดเจนเป็นต้น

3. ภาพประกอบโครงการ/กิจกรรม