SDG ผลงานชิ้นที่ 2

การเสริมความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก (MOU)

1. โครงการ/กิจกรรมสอดคล้องกับ SDGs

SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the goals)

2. สรุปผลการดำเนินงาน

การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายนอกกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความจำนงที่จะร่วมมือทางวิชาการ ในการผลิตบัณฑิตวิชาชีพพยาบาล และเพื่อแสดงความจำนงที่จะร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งความร่วมมือในการผลิตพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณภาพทั้งสองหน่วยงาน ปัจจุบันคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้จัดทำหลักสูตรร่วมกับฝ่ายการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้แก่ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น คาดว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา พ.ศ 2568 หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน หลักสูตรเปิดดำเนินการมาแล้ว 5 รุ่น  และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับผู้เข้าอบรมรุ่นแรกในปีการศึกษา พ.ศ. 2568

ขั้นตอนการดำเนินงาน (PDCA)

            การวางแผน (PLAN)

  1. ผู้บริหารคณะพยาบาลศาสตร์และผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการประสานงานกับผู้บริหารโรงพยาบาล สุราษฎร์ธานีเพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน
  2. คณะฯ จัดเตรียมเอกสาร ได้แก่ (ร่าง)บันทึกข้อตกลง (MOU) และเอกสารสัญญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำ (ร่าง) บันทึกข้อตกลง (MOU) ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยนิติกรของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  3. คณะฯ นำ (ร่าง) บันทึกข้อตกลง (MOU) เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  4. นัดวันลงนาม ผู้ลงนามฝ่ายที่หนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และผู้ลงนามฝ่ายที่สองของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือตัวแทน และมีพยานร่วมลงนามทั้งสองฝ่าย

ลงมือปฏิบัติ (DO)

  1. คณะฯ และฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร พยาบาลศาสตรบัณฑิตสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น โดยพิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565 มาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรร่วมกับอาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี รวมทั้งหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติฉุกเฉิน และหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  2. โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติทางคลินิกของรายวิชาปฏิบัติการพยาบาล เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพ มีความพร้อมในการสนับสนุนการเรียนรู้ในสาขาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์มีลักษณะเป็นการฝึกปฏิบัติแบบวิชาชีพ (Professional Practice) การดำเนินการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์กับฝ่ายการพยาบาล จะส่งผลต่อคุณภาพการพยาบาลอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ตามพันธกิจของทั้งสองหน่วยงาน
  3. คณะพยาบาลศาสตร์ และฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ร่วมวางแผนจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ การวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอันจะนำไปสู่การพัฒนาบัณฑิตที่มีสมรรถนะวิชาชีพ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามความต้องการของสถานประกอบการ
  4. ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงอื่น ๆ ได้แก่ ร่วมพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของแต่ละหน่วยงานหรือทั้งสองหน่วยงานตามแต่กรณี และร่วมทำวิจัยและหรือสร้างความร่วมมือทางวิชาการในลักษณะอื่น ๆ ตามความต้องการของทั้งสองหน่วยงาน

ประเมินผล (Check)

ผลการประเมินหลักสูตรตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผลการดำเนินงานของหลักสูตร

บทเรียนที่ได้รับ

การทำข้อตกลงร่วมผลิตบัณฑิตพยาบาลระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ กับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เป็นการใช้ทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ รวมถึงส่งผลต่อคุณภาพการพยาบาลอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

3. ภาพประกอบโครงการ/กิจกรรม