SDG ผลงานชิ้นที่ 3
โครงการพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาและอัตลักษณ์ SRUN+h
1. โครงการ/กิจกรรมสอดคล้องกับ SDGs
SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being)
2. สรุปผลการดำเนินงาน
การศึกษาในระดับอุดมศึกษามักมาพร้อมกับความท้าทายหลายประการที่นักศึกษาต้องเผชิญ เช่น ความเครียดจากการเรียน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ หากปรับตัวไม่ได้ หรือปรับตัวได้ไม่ดีจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา โดยปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นนับเป็นปัญหาที่สำคัญและพบได้บ่อย องค์การอนามัยโลกระบุให้ปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นจัดเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพ โดยพบได้ถึงร้อยละ 13 ในกลุ่มวัยรุ่น จำแนกปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้มากที่สุดคือ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ปัญหาพฤติกรรมรุนแรง และการฆ่าตัวตายตามลำดับ (WHO, 2021) สอดคล้องกับผลการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปี พ.ศ.2563 พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่โทรศัพท์มาขอรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตจาก 10,000 สาย พบปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความเครียด/วิตกกังวลร้อยละ 51.36 ปัญหาความรักร้อยละ 21.39 และซึมเศร้าร้อยละ 9.82 ตามลำดับ (กรมสุขภาพจิต, 2563) ดังนั้น การดูแลเพื่อให้นักศึกษามีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being) จะช่วยส่งเสริมการปรับตัวในรั้วมหาวิทยาลัยและลดการเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา
การให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Support) เป็นแนวทางที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสนับสนุนการข้ามผ่านอุปสรรคโดยบุคคลใกล้ชิดและมีความสำคัญมากในช่วงวัยรุ่น โดยเพื่อนจะเป็นบุคคลใกล้ชิดและมีอิทธิพลมาก ขณะเดียวกันก็พบว่าในช่วงวัยรุ่นหากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนก็จะส่งผลต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีตามมา (กฤติมา ทุ่มขนอม และบุรณี กาญจนถวัลย์, 2565)
คณะพยาบาลศาสตร์ มีปรัชญาการศึกษา คือ การจัดการศึกษาพยาบาลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นรากฐานของการผลิตพยาบาลที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรม ร่วมกับการผลิตบัณฑิตพยาบาลให้มีอัตลักษณ์ SRUN+H โดยการพัฒนา Humanized care (การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์) Spirit (มีน้ำใจ) และUsefulness (ทำตนให้เป็นประโยชน์) นั้นจะต้องมีการพัฒนาให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกเอาใจใส่ผู้อื่นดุจญาติมิตร มีความรัก และความเมตตาต่อผู้อื่น แต่คุณสมบัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้นั้น นักศึกษาจะต้องมีความตระหนักรู้ในตนเอง เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการทั้งของตนเองและผู้อื่นเป็นอย่างดี และเมื่อความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นในใจของนักศึกษาจนอิ่มเอม นักศึกษาจะเกิดการมีน้ำใจ คือ การแบ่งปัน เผื่อแผ่ อยากให้หรือช่วยเหลือผู้อื่น ก่อให้เกิดเป็นการทำตนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามมา นำมาสู่โครงการการพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาและอัตลักษณ์ SRUNH ให้นักศึกษามีทักษะการให้คำปรึกษาในเบื้องต้น และการสร้างแกนนำนักศึกษาสำหรับให้คำปรึกษาเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพจิต (Junior helper)
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาในเบื้องต้นแก่นักศึกษาพยาบาล
- เพื่อสร้างแกนนำนักศึกษาพยาบาลสำหรับให้คำปรึกษาเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพจิต (Junior helper) ของคณะพยาบาลศาสตร์
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรม ประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กองบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โรงเรียนด่านสวี และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
กิจกรรมในโครงการ กิจกรรมมีสุข : อบรมเชิงปฏิบัติการให้คำปรึกษาเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพจิตแก่นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1-3 ประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 : อบรมเชิงปฏิบัติการการให้คำปรึกษาเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพจิตแก่นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1-3
ขั้นที่ 2 : อบรมเชิงปฏิบัติการสร้างแกนนำนักศึกษาสำหรับให้คำปรึกษาเบื้องต้นและการดูแลสุขภาพจิต (Junior helper) แก่ตัวแทนนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1-3
ขั้นที่ 3 : บูรณาการกิจกรรมสู่การเรียนการสอนรายวิชา NURNS23 ปฏิบัติการการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ร่วมกับขยายผลเชิงพื้นที่สู่การบริการวิชาการโครงการขับเคลื่อนตามพระบรมราโชบายในพื้นที่ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
ขั้นที่ 4 : ประเมินผลการจัดโครงการ ประเมินผลการจัดการเรียนการสอน และประเมินผลความพึงพอใจในพื้นที่
ผลการดำเนินกิจกรรม
ภายหลังการอบรมมีการประเมินข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนี้
- ผลการดำเนินโครงการ :
– นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจเฉลี่ย 4.67 และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีการเพิ่มขึ้นของทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้นร้อยละ 100
– จากการสัมภาษณ์นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ สรุปได้ว่า นักศึกษามิวิธีดูแลใจตนเองในเบื้องต้น เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองและบุคคลรอบข้างได้ดีขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น มีมุมมองทั้งต่อตนเองและผู้อื่นที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น มีการขยายผลสู่ชั้นปีตนเอง โดยหลังจากการขยายผลของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้มีการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาเพื่อนในชั้นปีและส่งต่อให้คลินิกให้คำปรึกษาหากต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง หลังเริ่มดำเนินกิจกรรมพบว่า นักศึกษามีการให้คำปรึกษาเพื่อนทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในปัญหาสุขภาพจิตได้ดีขึ้น โดยมีอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการจะคอยเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษากลุ่มนี้ตลอดเวลา อีกทั้งยังจัดกิจกรรมในรูปแบบการกำกับดูแล (supervision) เพื่อประเมินและดูแลนักศึกษาที่ให้คำปรึกษาแก่เพื่อน และนักศึกษากลุ่มนี้ยังมีความต้องการเผื่อแผ่และต้องการออกไปช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาทั้งในคณะและต่างคณะเพิ่มเติม เพื่อเสริมสมรรถนะของการเป็นบัณฑิตในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ - ผลการบูรณาการเรียนการสอน ใช้การสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษา สรุปผลการสัมภาษณ์ได้ว่า กิจกรรมดังกล่าวทำให้เห็นถึงการประยุกต์ความรู้สู่การปฏิบัติในมิติของการส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่วัยรุ่น ทำให้เห็นปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป และยังเป็นการพัฒนาสมรรถนะวิศวกรสังคมให้แก่นักศึกษา
- ผลความพึงพอใจในพื้นที่ จากการทำกิจกรรมโดยประเมินจากนักเรียนและคุณครูโรงเรียนด่านสวีพบคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 4.64 และจากการสัมภาษณ์ครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียนในบางแง่มุมที่นักเรียนได้เล่ามากขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวร่วมกับงานให้คำปรึกษาของโรงเรียนและพบว่าภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม นักเรียนในโรงเรียนมีความกล้าบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่สบายใจกับครูได้มากขึ้น
ข้อเสนอแนะ
- ควรมีการขยายผลการจัดกิจกรรมดังกล่าวสู่พื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยและภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น
- ควรใช้กระบวนการพัฒนาการให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อนต่อไป เพื่อเป็นส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีจากกลุ่มคนวัยเดียวกัน ซึ่งมีความเข้าอกเข้าใจกันมากกว่า และยังเป็นการพัฒนาสมรรถนะวิศวกรสังคมให้แก่นักศึกษา
3. ภาพประกอบโครงการ/กิจกรรม