SDG ผลงานชิ้นที่ 4

สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน: เส้นทางนักศึกษาที่มีบุตร

1. โครงการ/กิจกรรมสอดคล้องกับ SDGs

SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)

2. สรุปผลการดำเนินงาน

แนวทางสนับสนุนการดูแลนักศึกษาขณะตั้งครรภ์ เลี้ยงดูบุตรหลังคลอดและระหว่างเรียน โดยวางแผนการเรียนตามบริบทของนักศึกษาแบบเฉพาะราย เพื่อให้โอกาสการศึกษาแก่ผู้หญิงที่เป็นแม่และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศระหว่างเรียน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

  1. การสื่อสารกับผู้ปกครอง

การพบและพูดคุยกับผู้ปกครอง: เมื่อผู้เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลการตั้งครรภ์ของนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษารวบรวมข้อมูลของนักศึกษาอย่างรอบด้านทั้งผลการเรียน ลักษณะครอบครัว ความคิดและความรู้สึกของนักศึกษา รวมถึงข้อมูลของสามีของนักศึกษา เพื่อปรึกษากับคณบดี

การวางแผนร่วมกัน: คณบดีนัดพบผู้ปกครอง สามีของนักศึกษา นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการดูแลสุขภาพของนักศึกษาขณะตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดและระหว่างเรียน รวมถึงร่วมกันวางแผนการเรียนตามบริบทของนักศึกษาแต่ละราย โดยพิจารณาแนวทางและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน (ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ที่นักศึกษาไว้วางใจ ประธานหรืออาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ซึ่งพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีโดยพูดคุยทำความเข้าใจกับนักศึกษาก่อนวันนัดพบ)

  1. การปรับแผนการเรียน

อนุญาตให้หยุดเรียน: ให้สิทธิ์ในการหยุดเรียนตามความจำเป็นด้านสุขภาพกายและจิตใจ โดยไม่กระทบต่อสถานะทางการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษามีการสื่อสารและประสานข้อมูลกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาที่เกี่ยวข้อง

การลงทะเบียนเรียน: วางแผนให้สามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาที่ตกค้างในภาคเรียนถัดไปได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาตามที่หลักสูตรกำหนด

  1. การสนับสนุนด้านการศึกษา

จัดหาทรัพยากรการเรียน: สร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์หรือการสอนเสริมที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา

การแนะแนวการเรียน: จัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาเฉพาะ คืออาจารย์ประจำชั้นปีที่ดูแลนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพื่อแนะนำการลงทะเบียนเรียนรายวิชาในแต่ละภาคเรียน การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ วางแผนการดูแลบุตร เมื่อกลับมาศึกษาเต็มเวลา

  1. การสนับสนุนด้านสุขภาพ

บริการสุขภาพ: จัดให้มีบริการดูแลสุขภาพและการให้คำแนะนำสำหรับนักศึกษาที่ตั้งครรภ์อย่างเฉพาะเจาะจงโดยอาจารย์สาขาการพยาบาลมารดาและทารก ได้แก่ การตรวจสุขภาพ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเลี้ยงดูบุตร

การสนับสนุนจิตใจ: จัดให้มีการให้การปรึกษา ด้านสุขภาพจิตโดยอาจารย์สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อช่วยนักศึกษาในการจัดการกับความเครียดจากการตั้งครรภ์และการดูแลบุตรระหว่างเรียน

  1. การสร้างความตระหนักรู้

การอบรมและสัมมนา: ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและการสนับสนุนผู้หญิงที่เป็นแม่ในระบบการศึกษา รวมทั้งการแนะแนวเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้กับนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1

ส่งเสริมการมีส่วนร่วม: สนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือดูแลนักศึกษาตั้งครรภ์ หรือเลี้ยงดูบุตรระหว่างเรียนอย่างเข้าใจ

  1. การติดตามและประเมินผล

การประเมินผลการเรียน: ติดตามผลการเรียนและความก้าวหน้าของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงแนวทาง สนับสนุนการดูแลตามบริบทของนักศึกษาแบบเฉพาะราย

การรายงานผล: จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของโครงการ/กิจกรรมที่สนับสนุนการศึกษาและสุขภาพของนักศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สรุป

คณะพยาบาลศาสตร์มีแนวทางสนับสนุนการดูแลนักศึกษาขณะตั้งครรภ์ เลี้ยงดูบุตรหลังคลอดและระหว่างเรียน โดยวางแผนการเรียนตามบริบทของนักศึกษาแบบเฉพาะราย เพื่อให้โอกาสการศึกษาแก่ผู้หญิงที่เป็นแม่และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศระหว่างเรียน ซึ่งสนับสนุน SDGs 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) โดยสร้างระบบการสนับสนุนที่เข้าถึงง่ายและมีความยืดหยุ่น สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สนับสนุนและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาตั้งครรภ์ เลี้ยงดูบุตรหลังคลอดและระหว่างเรียน รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจของนักศึกษา เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นแม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีอาชีพที่มั่นคงเพื่อเลี้ยงดูบุตร ด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง

3. ภาพประกอบโครงการ/กิจกรรม