SDG ผลงานชิ้นที่ 5

การบริการให้คำปรึกษาของศูนย์ดูแลนักศึกษาด้วยหัวใจ (SCC) คณะพยาบาลศาสตร์

1. โครงการ/กิจกรรมสอดคล้องกับ SDGs

SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being)

2. สรุปผลการดำเนินงาน

ปัญหาต่างๆ ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการเรียน ครอบครัว หรือความสัมพันธ์กับเพื่อน การตั้งครรภ์ในวัยเรียน อาจส่งผลต่อความเครียด ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายของนักศึกษาตามมาได้ ซึ่งถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วงปีการศึกษา 2564-2566 โดยใช้แบบประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นผ่านทาง Application Mental Health Check in มีผู้ตอบแบบประเมิน จำนวน 11,820 คน พบว่า มีความเครียด ร้อยละ 24.18 เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 42.3 และเสี่ยงทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตาย ร้อยละ 5.49 (กองพัฒนานักศึกษา, 2566) การดูแลช่วยเหลือเพื่อให้นักศึกษามีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being) ในระหว่างการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น หรือเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วสามารถให้การดูแลช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถปรับตัวและจัดการปัญหานั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย จะสะท้อนถึงคุณภาพในการดูแลและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาด้วย ทั้งนี้จากนโยบายของมหาวิทยาลัยให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลนักศึกษาด้วยหัวใจ (SRU Student Care Center :SCC) ขึ้นในทุกคณะ  ศูนย์ SCC คณะพยาบาลศาสตร์ ได้มีการจัดตั้งและดำเนินงานภายใต้แนวคิดการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized care) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ตัวหนึ่งของคณะพยาบาลศาสตร์ (SRUN+H) โดยมีคณะทำงานซึ่งเป็นอาจารย์สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช และด้านการให้คำปรึกษา เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และมีอาจารย์สาขาการพยาบาลมารดาและทารก ในการให้คำปรึกษากรณีเป็นปัญหาสุขภาพวัยเจริญพันธุ์ เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาทางเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังมีเครือข่ายทางด้านสุขภาพ ได้แก่ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 11  ที่สามารถขอคำปรึกษาและขอการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของนักศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ คณะฯ ได้วางระบบและกลไกในการดำเนินงานของศูนย์ SCC  โดยมีขั้นตอนตามหลัก PDCA ดังนี้

Plan (วางแผน)

  1. คณะกรรมการฝ่ายแนะแนวและให้คำปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์จากสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และอาจารย์สาขาการพยาบาลมารดาและทารก ทำการวิเคราะห์ SWOT ผลการดำเนินงานบริการให้คำปรึกษาของปีที่ผ่านมา
  1. นำผลการวิเคราะห์ SWOT มาวางแผนระบบบริการให้คำปรึกษา โดยมุ่งเน้นบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
  1. วางแผนการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาแก่อาจารย์ที่ปรึกษา และแกนนำนักศึกษา
  2. วางแผนงบประมาณในการปรับปรุงศูนย์ SCC ของคณะพยาบาลศาสตร์ ให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สวยงาม มีความเป็นส่วนตัวเหมาะสำหรับให้คำปรึกษา  และงบประมาณค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในศูนย์ SCC

Do (ปฏิบัติ)

  1. ประชาสัมพันธ์การบริการให้คำปรึกษาผ่านทางอาจารย์ประจำชั้นปี และช่องทางต่างๆ ที่นักศึกษา

เข้าถึงได้ง่าย

  1. ปฏิบัติการให้บริการให้คำปรึกษา โดยมีขั้นตอนในการขอรับบริการให้คำปรึกษา ดังนี้

2.1 กรณีนักศึกษาขอรับบริการด้วยตนเอง

1) นักศึกษาสามารถติดต่อขอรับบริการให้คำปรึกษาได้โดยตรงที่ศูนย์ SCC คณะพยาบาล

ศาสตร์ ในวัน เวลา ราชการ

2) หากนักศึกษาต้องการระบุอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา สามารถโทรศัพท์หรือไลน์หาอาจารย์ที่ประสงค์จะปรึกษาด้วยโดยตรง เพื่อนัดวัน เวลา ที่สะดวกในการขอรับบริการให้คำปรึกษา

2.2 กรณีส่งต่อเพื่อขอรับบริการ

อาจารย์ผู้สอน/อาจารย์ประจำชั้น เมื่อพบว่า นักศึกษาคนหนึ่งคนใดมีปัญหาด้านสุขภาพจิต/ปัญหาวัยเจริญพันธ์ ที่จำเป็นต้องได้รับการให้คำปรึกษา สามารถประสานไปที่อาจารย์สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อนัดวัน เวลา ในการเข้ารับบริการให้คำปรึกษา

2.3 กรณีจำเป็นต้องส่งต่อพบแพทย์

ภายหลังการให้คำปรึกษา หากอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษาประเมินพบว่า นักศึกษาจำเป็นต้องพบแพทย์/จิตแพทย์ ให้อาจารย์ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำนักศึกษาไปพบแพทย์/จิตแพทย์ (อาจประสานผู้ปกครองทราบเพื่อเป็นคนพาไปพบแพทย์) แจ้งอาจารย์ประจำชั้นทราบทางวาจา ติดตามผลการรักษา และทำบันทึกข้อความรายงานคณบดีทราบต่อไป

Check (ประเมินผล)

ประเมินความพึงพอใจต่อบริการให้คำปรึกษา  ซึ่งพบว่า คะแนนความพึงพอใจต่อบริการให้

คำปรึกษา ในปีการศึกษา 2564, 2565, 2566 เท่ากับ 4.17, 4.35 และ 4.48 (คะแนนเต็ม 5) ซึ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้อาจเนื่องจากคณะพยาบาลศาสตร์มีระบบและกลไกในการบริการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ มีทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาประจำชั้น ที่สามารถให้การดูแลนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด (สัดส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาประจำชั้น : นักศึกษา ไม่เกิน 1: 14) และมีอาจารย์ฝ่ายแนะแนวและให้คำปรึกษาซึ่งเป็นอาจารย์ในสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและการทำจิตบำบัด ที่จะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาในกรณีที่เป็นปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ปัญหาสุขภาพทางเพศและปัญหาวัยเจริญพันธ์ ก็จะมีอาจารย์ในสาขาการพยาบาลมารดาและทารก มาเป็นผู้ให้คำปรึกษา

Act (ปรับปรุงและพัฒนา)

  1. ถอดบทเรียนความสำเร็จกระบวนการให้คำปรึกษา
  2. สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ด้านการให้คำปรึกษา
  3. สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต/ปัญหาวัยเจริญพันธ์ โดยการทำสื่อประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนนักศึกษาเข้ารับบริการให้คำปรึกษาโดยความสมัครใจ

 สรุปบทเรียนและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ

  1. ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาวัยเจริญพันธ์ เป็นปัญหาสำคัญของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่นักศึกษา ผู้ปกครอง อาจารย์และบุคลากรทุกระดับควรให้ความสำคัญ
  2. การให้คำปรึกษา เป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะเฉพาะด้านการให้คำปรึกษา และจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ดังนั้นจำเป็นต้องพัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะด้านการให้คำปรึกษา
  3. การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาหรือผู้ที่เข้ารับบริการให้คำปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการรักษาความลับ การมีสถานที่ที่เป็นส่วนตัวในการให้คำปรึกษาเป็นสิ่งจำเป็น

4. ควรมีการทำความร่วมมือ (MOU)กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลสุขภาพจิตของนักศึกษา และบุคลากร โดยร่วมกันทำแผนการให้บริการ และมีแนวปฏิบัติในการดูแลและการส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษา/ช่วยเหลืออย่างชัดเจน

3. ภาพประกอบโครงการ/กิจกรรม